Loading...
Ajinomoto Thailand

วิธีจับขยะเศษอาหาร มาหมุนเวียนเป็นของใช้ในบ้านต่อ

18/07/2024

ปัญหาขยะอาหาร ยังคงเป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องช่วยกันแก้อยู่ เนื่องจากปัจจุบัน ขยะในประเทศไทยกว่า 60% เป็นขยะอาหารเลยนะ ซึ่งคนไทย 1 คนสามารถสร้างขยะอาหารได้มากถึง 254 กิโลกรัมต่อปีเลยทีเดียว

ขยะอาหารที่เราทิ้งไปเหล่านี้ล้วนส่งผลเสียต่อโลกอย่างหนัก เพราะขยะอาหารเหล่านี้ทำให้​เกิดก๊าซเรือนกระจกราว 8-10% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก หรือเกือบ 5 เท่าเลยทีเดียว ดังนั้นวันนี้อายิโนะโมะโต๊ะขอมาแนะนำวิธีที่ช่วยกำจัดขยะอาหาร โดยการนำไปทำประโยชน์ต่อ แถมยังสามารถนำไปทำเองได้ง่าย ๆ ที่บ้านอีกด้วย ใครสนใจตามมาอ่านกันได้เลย



























 

จากน้ำมันทำอาหาร สู่สบู่อเนกประสงค์

         เชื่อว่าหลาย ๆ บ้านที่ทำอาหารกินเองต้องเจอปัญหาน้ำมันใช้แล้วเหลืออยู่ บางบ้านอาจนำน้ำมันที่ใช้แล้วไปทอดซ้ำ ๆ จนไม่สามารถทำอะไรต่อได้แล้ว จะเอาไปทิ้งก็ไม่รู้จะทิ้งตรงไหนดี หรือจะเก็บไว้ในขวดก็รกตา รกบ้านซะเหลือเกิน ดังนั้นวันนี้เรามาเปลี่ยนน้ำมันเหล่านี้ให้เป็นสบู่กันเถอะ จะล้างมือ หรือซักล้างอะไรก็ได้หมด ไปเริ่มกันเลย

• อุปกรณ์

1. กระทะ

2. ที่กรองกากอาหาร

3. ชามผสม

4. ไม้คน

5. พิมพ์สบู่

6. น้ำมันทอดใช้แล้ว 1 ลิตร

7. หอมใหญ่ 1 หัว

8. น้ำเปล่า 340 กรัม

9. โซดาไฟ 160 กรัม

10. น้ำมันหอมระเหย (สามารถเลือกกลิ่นได้ตามชอบ)

• ขั้นตอนการทำ

1. ซอยหอมใหญ่ ตั้งกระทะ จากนั้นเทน้ำมันที่ใช้แล้วลงไป ที่สำคัญคือค่อย ๆ ใส่หอมใหญ่ลงไปทอดให้ทั่วกระทะ โดยหอมใหญ่ที่ใส่ไปจะช่วยดับกลิ่นของน้ำมัน

2. เมื่อหอมสุกแล้ว ให้กรองเอาหอมใหญ่ออก แล้วพักน้ำมันที่กรองไว้สักพักหนึ่ง ให้พอเย็นลงเล็กน้อย

3. จากนั้นเตรียมโซดาไฟ โดยเทน้ำ 340 กรัมในชามผสม ตามด้วยเทเกล็ดโซดาไฟและคนไปเรื่อย ๆ จนละลายหมด **ขั้นตอนนี้ควรทำในพื้นที่โปร่งและใส่ถุงมือกับหน้ากากเพื่อป้องกัน

4. เมื่อน้ำมันอยู่ในอุณหภูมิประมาณ 50 องศาเซลเซียสแล้ว ให้เทโซดาไฟลงไปในน้ำมัน และแต่งเติมกลิ่นตามชอบ

5. ทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที หรือให้สังเกตว่าน้ำมันเปลี่ยนเป็นเนื้อครีม ก็ถือว่าใช้ได้

6. เทลงพิมพ์ ตั้งทิ้งไว้ประมาณ 1 คืน ให้แข็งตัว เท่านี้เป็นอันเสร็จเรียบร้อย

• คำแนะนำ

เก็บสบู่ที่ทำเสร็จแล้วไว้สักประมาณ 1 เดือน ค่อยนำมาใช้ เพื่อให้สบู่แห้งและมีค่า pH ที่เหมาะกับการใช้งาน


 

แปลงร่างเปลือกส้มที่ทิ้งไป ให้กลายเป็นสเปรย์ทำความสะอาด

เปลือกส้มที่ทิ้งทุกครั้งหลังปอกเสร็จ อีกหนึ่งขยะอาหารที่หลายคนมองข้าม ใครที่คิดว่าเปลือกส้มไม่มีประโยชน์ ต้องลองมาดูวิธีนี้ มาแปลงโฉมเปลือกส้มให้เป็นสเปรย์ทำความสะอาด ที่ใช้ได้ทั้งในครัว และพื้นบ้านกันดีกว่า

• อุปกรณ์

1. เปลือกส้ม 100 กรัม หรือประมาณ 3 ลูก

2. น้ำส้มสายชู 2 ช้อนโต๊ะ

3. เบกกิ้งโซดา 2 ช้อนโต๊ะ

4. น้ำ 1 ลิตร

5. ขวดโหลสะอาดมีฝาปิด 1 ขวด

• ขั้นตอนการทำ

1. ฉีกเปลือกส้มเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่ลงไปในขวดโหลภาชนะที่เตรียมไว้ จากนั้นเทน้ำลงไปให้เต็ม

2. ตามด้วยเบกกิ้งโซดา และน้ำส้มสายชู แล้วปิดฝาขวดโหลให้แน่นสนิท ทิ้งไว้ 1 เดือนโดยห้ามโดนแดดเด็ดขาด

3. เมื่อครบกำหนด 1 เดือนหลังหมัก ให้ตักน้ำหมักเปลือกส้ม 1 ช้อนชา มาผสมกับน้ำสะอาด 1 กระบอกฉีด

4. จากนั้นก็นำสเปรย์ที่ได้ไปฉีดและใช้ผ้าสะอาดเช็ดตามคราบต่าง ๆ ภายในบ้านได้เลย

 

เปลือกสับปะรดไม่เอาขอนะ.. จะเอามาทำน้ำยาล้างจานฉ่ำ ๆ

จะออกไปซื้อน้ำยาล้างจานให้เหนื่อย และเปลืองเงินไปทำไม ในเมื่อเราสามารถนำเปลือกสับปะรดที่คิดจะทิ้งมาเปลี่ยนเป็นน้ำยาล้างจานได้ วิธีนี้เวิร์คสุด ๆ ได้ช่วยโลกลดขยะอาหาร แถมได้ของใช้ไปในตัว เริ่ดขนาดนี้จะไม่ทำไหวหรอ

• อุปกรณ์

1. เปลือกสับปะรด 1 ลูก

2. ขมิ้น ½ ช้อนโต๊ะ

4. N70 (หัวเชื้อสำหรับทำน้ำยาล้างจาน) 300 กรัม

5. เกลือ 200-300 กรัม

6. น้ำสะอาด 4 ลิตร

• ขั้นตอนการทำ

1. หั่นเปลือกสับปะรดเป็นชิ้นเล็ก ๆ จากนั้นต้มลงไปในน้ำเดือด และใส่ขมิ้นตามลงไป

2. ต้มทิ้งไว้ 10-15 นาที เมื่อครบแล้วให้นำออกมาพักให้เย็นลง แล้วนำมากรองเอาเศษต่าง ๆ ออก

3. นำ N70 มาใส่ในชามใหญ่ ๆ ตามด้วยเกลือและน้ำต้มสับปะรดทีละนิด แล้วคนให้ทุกอย่างเข้ากัน ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนน้ำต้มสับปะรดหมด

4. เมื่อทำเสร็จแล้วให้เทใส่ถังพลาสติกที่มีฝาปิด ตามด้วยน้ำสะอาด คนให้ทุกอย่างเป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นทิ้งไว้ 1 คืน เพื่อให้ฟองหายและน้ำยากลายเป็นเนื้อใส ๆ เท่านี้ก็เสร็จเรียบร้อย

         จากของที่ตอนแรกเป็นขยะ มาตอนนี้กลับกลายเป็นของที่มีประโยชน์ได้อีกครั้ง เพื่อน ๆ ลองดูสิ่งของรอบตัวอื่น ๆ ก็ได้นะ เผื่อจะเจอไอเดียลดขยะอาหารแบบใหม่แบบสับอื่น ๆ อีก

         อายิโนะโมะโต๊ะพร้อมมอบวิธีช่วยโลกให้ทุกคน เพราะเราเห็นว่าโลกนี้สำคัญและเราอยากให้ทุกคนมีความสุขกับโลกใบนี้ไปพร้อมการมีสุขภาพที่ดี จึงได้มีแนวคิด Too Good To Waste ที่ต้องการช่วยลดขยะอาหารให้กับภาคครัวเรือน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของบริษัทในการช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมลง 50% โดยในปี 2023 เราได้ลดขยะอาหารไปแล้วถึง 1,300 ตัน ซึ่งคิดเป็น 70% เมื่อเทียบกับปี 2018 และเรายังคงมุ่งมั่นที่จะลดปริมาณขยะอาหารอย่างต่อเนื่อง

เราช่วยโลกแล้ว แล้วทุกคนล่ะ พร้อมที่จะช่วยโลกไปด้วยกันหรือยัง?