Loading...
เว็บไซต์ อายิโนะโมะโต๊ะประเทศไทย
เว็บไซต์ อายิโนะโมะโต๊ะประเทศไทย

“อายิโนะโมะโต๊ะ” ร่วมปลูกป่าชายเลน สนับสนุน Blue Carbon มุ่งลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศสู่เป้าหมาย Net Zero 

02/08/2023



                บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด นำโดยตัวแทนจากฝ่ายส่งเสริมความยั่งยืน และฝ่ายความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ร่วมกิจกรรมปลูกป่าชายเลน เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าของกรุงเทพฯ คืนชีวิตสู่ธรรมชาติ กับองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) , สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) และองค์กรสมาชิก ณ ศูนย์เรียนรู้ป่าชายเลนบางขุนเทียน แหล่งเรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา 
 



                  กิจกรรมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลน โดยร่วมกันปลูกป่าชายเลน เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำต่างๆจำนวนมาก รวมถึงเป็นการแสดงพลังความร่วมมือจากองค์กรภาคธุรกิจไทยในการรณรงค์และสนับสนุนให้มีการปลูกป่าชายเลน เพื่อเพิ่มปริมาณการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่กำหนดไว้ โดยภายหลังจากจบกิจกรรม จะมีดำเนินการจัดทำรายงานสรุปผลการกักเก็บคาร์บอนของป่าชายเลนที่ได้ปลูกต้นโกงกางร่วมกัน กิจกรรมรณรงค์การอนุรักษ์ป่าชายเลนเพื่อคืนชีวิตสู่ธรรมชาติครั้งนี้ นับเป็นกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพสูงให้กับระบบนิเวศชายฝั่ง เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีและสร้างความยั่งยืนให้กับโลก 

 

                   สำหรับระบบนิเวศชายฝั่ง จะประกอบไปด้วย ป่าชายเลน ที่ราบน้ำท่วมถึง และหญ้าทะเล ซึ่งถือเป็น “บลูคาร์บอน” นับเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพสูง ระบบนิเวศนี้กักเก็บคาร์บอนส่วนใหญ่ไว้ในรากและตะกอนดิน ซึ่งคาร์บอนเหล่านี้จะถูกกักเก็บได้นานนับพันปีในกรณีที่ไม่ถูกรบกวน ขณะที่กรีนคาร์บอน เช่น ป่าฝน กักเก็บคาร์บอนไว้ในชีวมวลและปล่อยกลับออกมาเมื่อต้นไม้ตาย ด้วยเหตุนี้ บลูคาร์บอนจึงมีความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนสูงกว่าป่าไม้ถึงเกือบ 10 เท่า (ข้อมูลจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก; TGO)  
 

                  ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทยนั้น มีพื้นที่ป่าชายเลนประมาณ 2,500 ตารางกิโลเมตร และเพิ่มขั้นเล็กน้อยในปีที่ผ่านมาซึ่งถือว่ายังไม่เพียงพอสำหรับการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ไม่เพียงแต่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพสูงเท่านั้น ระบบนิเวศชายฝั่ง ยังถือเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญ อีกทั้งยังช่วยปกป้องพื้นที่ชายฝั่งจากคลื่นพายุ ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่จะให้ความสำคัญกับบลูคาร์บอน กลยุทธ์ต่างๆ สำหรับปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่งจึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของโลกเรา