Loading...
Ajinomoto Thailand

กินอะไรลดเบาหวาน? หนึ่งในนั้นคือการบริโภคผงชูรสให้ถูกวิธี

19/08/2022

“เบาหวาน” คือหนึ่งในโรคที่คนไทยคุ้นชิน เพราะเป็นโรคไม่ติดต่อที่พบได้บ่อยที่สุดและมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปัจจุบันตัวเลขผู้ป่วยเบาหวานในไทยมีมากกว่า 4 ล้านคนแล้ว 
 

สาเหตุที่สถิติผู้ป่วยโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งกรรมพันธุ์ และความอ้วน โดยเฉพาะการอ้วนลงพุงจากพฤติกรรมการกิน จนทำให้เกิดความผิดปกติที่ตับอ่อนทำให้ไม่สามารถหลั่งอินซูลิน เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดได้ 
 

ดังนั้น การดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคเบาหวานจึงมีหัวใจหลักอยู่ที่พฤติกรรมการกินเป็นสำคัญ โดยควรหลีกเลี่ยงอาหารหวานๆ มันๆ รวมถึงอาหารที่มีรสเค็ม นอกจากนี้ ยังควรหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้งเป็นอย่างน้อย
 


 

ส่วนใครที่กำลังเป็นโรคเบาหวาน ก็สามารถควบคุมเบาหวานได้จากการปรับพฤติกรรมการกินเช่นกัน โดยมีกลุ่มของอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง อาหารที่รับประทานได้โดยจำกัดปริมาณ และอาหารที่รับประทานได้ไม่จำกัดปริมาณ ดังนี้
 

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง

  • ขนมหวานทุกชนิดที่ทำจากแป้ง น้ำตาล ไข่ เนย กะทิ
  • ของทอดทุกชนิด
  • น้ำหวาน น้ำอัดลม น้ำผลไม้ผสมน้ำตาล เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ผลไม้รสหวานจัด เช่น ลำไย ลิ้นจี่ ทุเรียน น้อยหน่า อ้อย ขนุน ฯลฯ
  • ผลไม้กระป๋อง ผลไม้เชื่อม กวน ดอง แช่อิ่ม ตากแห้ง อบน้ำผึ้ง
  • อาหารหมักดอง อาหารตากแห้ง อาหารรสเค็มจัด


อาหารที่รับประทานได้ โดยจำกัดปริมาณ

  • เลือกดื่มนมจืด นมพร่องมันเนย นมถั่วเหลือง ในปริมาณที่เหมาะสม
  • เลือกกินข้าวกล้อง ธัญพืชไม่ขัดสี ขนมปังโฮลวีท ในปริมาณที่เหมาะสม
  • เลือกกินเนื้อปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไม่ติดหนัง ไข่ขาว ในปริมาณที่เหมาะสม 
  • ปรุงอาหารด้วยน้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด
  • หลีกเลี่ยงการเติมน้ำตาล เกลือ และเครื่องปรุงมากเกินความจำเป็น สามารถเลือกเติมผงชูรสปริมาณเล็กน้อยขณะปรุงอาหารเพื่อให้ได้รสชาติกลมกล่อม จนไม่ต้องเติมเครื่องปรุงชนิดอื่นเพิ่ม 


อาหารที่รับประทานได้ไม่จำกัดปริมาณ

         ผักใบเขียวชนิดต่างๆ เช่น ผักบุ้ง ผักคะน้า ผักกาด แตงกวา กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ มะระ มะเขือเทศ มะเขือยาว และพืชตระกูลถั่ว เพราะให้สารประเภทแป้งน้ำตาลน้อย มีเส้นใยสูง ช่วยในการขัดขวางการดูดซึมของน้ำตาลและไขมัน 
 

นอกจากการปรับพฤติกรรมการกินแล้ว ควรปรับใจไม่ให้เครียดหรือวิตกกังวลจนเกินไป และหมั่นไปตรวจระดับน้ำตาลในเลือดและปัสสาวะเป็นประจำทุกปี


 

อ้างอิง: 

โรงพยาบาลธนบุรี. แนวทางการบริโภคเพื่อสุขภาพสำหรับโรคเบาหวานhttps://bit.ly/3yjDTuG

สถานีสุขภาพBDMS. ประเทศไทยพบผู้ป่วย “โรคเบาหวาน” ไม่ต่ำกว่า 4 ล้านคน. https://bit.ly/3AywIRZ